หมอแอฟริกาใต้เผย ผู้ติดเชื้อ “โอไมครอน” ส่วนใหญ่มีอาการไม่มาก

เรื่องที่น่าสนใจ

ประธานสมาคมการแพทย์แอฟริกาใต้ให้ข้อมูลว่า จนถึงตอนนี้ อาการส่วนใหญ่ของผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสโคโรนา “โอไมครอน” ยังไม่รุนแรง และสามารถรักษาตัวที่บ้านได้

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ว่าพญ.แองเจลิก โคเอตซี ประธานสมาคมการแพทย์แอฟริกาใต้ กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ เกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ โอไมครอน หรือ บี.1.1.529 ซึ่งมีการยืนยันผู้ป่วยคนแรกในแอฟริกาใต้ ว่าผู้ป่วยโควิด-19 ที่อยู่ในความดูแลของเธออย่างน้อย 7 คน “มีอาการเบาบาง”

ขณะที่ผู้ป่วยคนหนึ่ง ซึ่งได้รับการส่งตัวมายังคลินิกของเธอ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมา “มีอาการอ่อนเพลียอย่างรุนแรง” นาน 2 วันติดต่อกัน รวมถึงการปวดศีรษะและปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งอาการลักษณะนี้ “ในเบื้องต้น” ค่อนข้างคล้ายคลึงกับโรคติดเชื้อไวรัสทั่วไป แต่การที่ในวันเดียวกันนั้นมีผู้ป่วยอีกหลายคนเข้ามาพบเธอ และอธิบายอาการแบบเดียวกัน พญ.โคเอตซี กล่าวว่า เธอจึงตัดสินใจรายงานไปยังสถาบันโรคติดต่อแห่งชาติ ( เอ็นซีไอดี ) เพื่อให้มีการตรวจสอบรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา ในร่างกายของผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างละเอียด

พญ.โคเอตซี ให้ความเห็นต่อไปว่า อาการของผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสโอไมครอนแตกต่างจากเชื้อไวรัสเดลตาพอสมควร โดยส่วนใหญ่ยังคงรับรู้กลิ่นและรสชาติได้ และอาการส่วนใหญ่ไม่รุนแรง สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ แต่ผู้ป่วยในความดูแลของพญ.โคเอตซี ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและคนหนุ่มสาว โดยครึ่งหนึ่งยังไม่ได้รับวัคซีน เธอจึงมีความกังวล ในกรณีผู้ติดเชื้อไวรัสโอไมครอนเป็นผู้สูงอายุ และยิ่งหากยังไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือยังฉีดไม่ครบ

อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก ( ดับเบิลยูเอชโอ ) ออกแถลงการณ์ฉบับใหม่ เมื่อวันอาทิตย์ ว่า “ยังไม่มีความชัดเจน” เกี่ยวกับรูปแบบการแพร่กระจาย การก่อโรค และผลกระทบต่อวัคซีน ของเชื้อไวรัสโอไมครอน “รุนแรงกว่าหรือน้อยกว่า” เมื่อเปรียบเทียบกับเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ตัวอื่น แม้อัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลของผู้ป่วยโควิด-19 ในแอฟริกาใต้กลับมาเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่อาจสรุปได้ว่า เป็นผลจากเชื้อไวรัสโอไมครอนเท่านั้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น ดับเบิลยูเอชโอเตือนว่า มีความเป็นไปได้ ที่การติดเชื้อไวรัสโอไมครอนสามารถเกิดขึ้นซ้ำได้มากกว่าเชื้อตัวอื่น และมักแสดงอาการในกลุ่มคนอายุน้อย แต่ไม่รุนแรง หากผู้ป่วยไม่มีโรคประจำตัว หรือโรคอื่นร่วมด้วย